กูรู 3 ธนาคาร “กู้ซื้อบ้านอย่างไรให้ผ่าน”
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หลายคนอาจได้ยินข่าวน่าตระหนกใจเกี่ยวกับยอดปฏิเสธสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่สูงมากขึ้น จนทำให้ไม่กล้าหรือไม่มั่นใจที่จะยื่นขอสินเชื่อ ด้วยคิดว่าสถาบันการเงินต่างเข้มข้นเรื่องคุณสมบัติผู้กู้ แต่ในความเป็นจริงแล้วยอดปฏิเสธสินเชื่อที่สูงขึ้นเกิดจากหนี้ในครัวเรือนที่สูงขึ้นของผู้บริโภค ไมได้เกิดจากมาตรการเข้มข้นของทางสถาบันการเงิน โดยภาพรวมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบในปี 2558 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 6% โดยมีสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ 6.4 แสนล้านบาท และภายในสินปีนี้จะมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างอยู่ในระบบประมาณ 3 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดและแนะแนวทางในการเตรียมตัวยื่นขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแก่ประชาชน ทางสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยและบริษัท โฮมบายเออร์ไกด์ จำกัด จึงได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “สมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยชี้ทางออกผู้บริโภค กู้ซื้อบ้านอย่างไรให้ผ่าน” ในงานวันแถลงข่าวการจัดงานอภิมหกรรมบ้าน-คอดโดฯ และสินเชื่อแห่งปี “NPA & Resale Home 2015” ณ โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ
คุณพิกุล ศรีมหันต์ กรรมการสมาคมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และรองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและธุรกิจรายย่อย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากต้นปีที่ผ่านมามักมีข่าวว่า ธนาคารมีมาตรการคัดกรองการยื่นขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เข้มข้นขึ้น มียอดปฏิเสธสินเชื่อมากขึ้น แต่จากผลการสำรวจค้นพบว่า สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาส 1 และ 2 ที่ผ่านมายังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องแสดงว่าทุกธนาคารยังคงปล่อยกู้สินเชื่อ ไม่ได้มีมาตรการที่เข้มขึ้นแต่อย่างใด แต่สาเหตุที่มีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น เนื่องจากผู้กู้มีภาระหนี้สินครัวเรือนสูงขึ้นโดยปรกติผู้กู้จะมีหนี้รวมกันได้ไม่เกิน 70-80% ของรายได้ โดยเป็นหนี้บ้านได้ไม่เกิน 50% แต่ปัจจุบันผู้กู้มีหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 50% ของรายได้ ทำให้ความสามารถในการผ่อนน้อยลงซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท/เดือน ที่เมื่อก่อนหนี้อะไรก็ตามจะมีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูง ร่วมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กที่มีสายป่านสั้นมีภาระหนี้ค่อนข้างมาก จึงถูกมองว่าเป็นลูกค้ากลุ่มเสี่ยง โดยภาพรวมอัตราการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นไม่มาก จาก 20% เมื่อสิ้นปี 2557 เป็น 23% ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2558
“ปัจจุบันไม่ใช่ธนาคารปฏิเสธสินเชื่อมากขึ้น แต่ผู้กู้มีภาระหนี้มากขึ้น เพราะฉะนั้นผู้กู้ต้องมีการเตรียมตัวก่อนกู้ เนื่องจากที่อยู่อาศัยเป็นสินค้าที่ต้องมีระยะเวลาในการผ่อนนานต่างจากสินค้าอื่น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 25-30 ปี หรือบางธนาคารให้มากถึง 40 ปี ดังนั้น ผู้กู้จึงต้องมีวินัยทางการเงินอย่างมากก่อนที่จะก่อนที่จะกู้ซื้อบ้าน โดยอาจจะมีการซ้อมผ่อนก่อน 1 ปี หรือหาผู้กู้ร่วมไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ พี่น้อง หรือแฟน แนะนำว่าให้ผู้สนใจขอสินเชื่อเดินเข้าไปขอคำปรึกษาได้กับทุก ๆ ธนาคาร ทุกวันนี้ทุกธนาคารพร้อมจะให้คำปรึกษา และอยากให้ลูกค้าทุกคนได้กู้ แต่ก็ไม่อยากให้เป็นหนี้เสีย อยากให้ทุกคนได้ที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองและส่งมอบให้ลูกหลานต่อไปได้” คุณพิกุล กล่าว
คุณพิมลพร พูนนาผล กรรมการที่ปรึกษาสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย และ SVP ฝ่ายผลิตภัณฑ์และช่องทางบริการ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจัยหลัก ๆ ที่แต่ละธนาคารจะนำมาพิจารณาคือ ความสามารถในการผ่อนชำระคืนของลูกค้า หลักประกัน ที่มาของรายได้ และประวัติทางด้านการเงิน โดยในเรื่องของที่มาของรายได้ ในการขอสินเชื่อควรมีการเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับหลักฐานที่มาของรายได้ก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 6-12 เดือน ซึ่งเรื่องนี้มักไม่เป็นปัญหาสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินเดือนเข้าบัญชีทุกเดือน เพียงแค่ขอ Statement จากธนาคาร แสดงรายการเดินบัญชีของลูกค้า แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ หรืออาชีพอิสระที่รับเงินสด ไม่มีหลักฐานรายได้ โดยการนำเงินเข้าบัญชีอย่างสม่ำเสมอ 6-12 เดือน เนื่องจากธนาคารพิจารณารายได้ที่พิสูจน์ได้จากเงินที่เข้าบัญชี
นอกจากนี้ธนาคารยังจะพิจารณาจากยอดคงเหลือในบัญชีด้วย แม้ว่าเงินเดือนจะมีหลายแสนแต่หากเงินเหลือในบัญชีไม่เท่าไหร่ ธนาคารจะขาดความมั่นใจในการบริหารเงินของลูกค้า แม้ว่าธนาคารส่วนใหญ่จะให้กู้ประมาณ 90% หรือแม้แต่ 100% ก็ตาม ลูกค้ายังจำเป็นต้องมีเงินอย่างน้อย 10-15% ของราคาที่อยู่อาศัย ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบของเงินฝาก หรือในรูปของทรัพย์สินอื่น เช่น รถยนต์ กองทุนรวม การลงทุนในหุ้น ที่ดิน เป็นต้น ซึ่งลูกค้าจะต้องยื่นข้อมูลหลักฐานทรัพย์สินเหล่านี้ที่มาประกอบด้วย
อีกสิ่งหนึ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญมาก ๆ คือ ประวัติทางด้านการเงิน ทุกธนาคารจะตรวจสอบข้อมูลประวัติทางด้านการเงินของลูกค้าผ่านทางบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร ซึ่งทุกธนาคารจะเห็นข้อมูลประวัติการใช้เงินของลูกค้าจากทุกสถาบันการเงิน และเป็นข้อมูลปัจจุบันถึงย้อนหลัง 3 ปี ซึ่งสิ่งนี้ธนาคารจะนำมาพิจารณาคือ มีหนี้สินเดิมเท่าไหร่ วงเงินที่ธนาคารที่ธนาคารอื่นอนุมิติให้แก่ลูกค้าเท่าไหร่ ภาระการผ่อนรายเดือนเท่าไหร่ ถ้าธนาคารให้กู้เพิ่มจะมีหนี้สินรวมแล้วเกิน 80% ของรายได้หรือไม่ และที่สำคัญคือมีการผิดชำระหนี้ หมายถึงการผิดนัดชำระหนี้ที่เกินกว่า 30 วัน หลังจากครบกำหนดชำระหนี้หรือไม่ ซึ่งลูกค้าควรที่จะไม่มีการผิดชำระหนี้ย้อนหลัง 3 ปีเลย แต่ถ้ามีการผิดชำระหนี้ สิ่งที่ควรนำมายื่นแก่ธนาคารตั้งแต่แรกคือสิ่งที่เคยผิดนัดชำระหนี้ ได้ชำระเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว พร้อมหลักฐาน นอกจากนี้ผู้ที่ใช้บัตรเครดิตควรระมัดระวังการใช้จ่ายในเรื่องที่ผิดปรกติวิสัย หรือไปสร้างหนี้อื่นๆ ในช่วงการขอสินเชื่อซึ่งจะทำให้นักวิเคราะห์ของแต่ละธนาคารวิเคราะห์ผิดได้ แต่ถ้ามีการใช้และจ่ายไปเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องนำหลักฐานมาแสดงให้ธนาคารเห็นด้วยว่าใช้ทำอะไร และจ่ายครบแล้วหรือไม่
คุณอลงกุล บุญมาสุข เลขาธิการสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย และผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อธุรกิจขนาดย่อม ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
กล่าวว่า วินัยทางการเงินเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก หากลูกค้ามีวินัยทางการเงินที่ดี โอกาสที่กู้ผ่านก็มีสูงขึ้น สำหรับลูกค้าที่มีหลายบัญชี บางครั้งคิดว่าแสดงเพียงบัญชีเดียวก็พอแล้ว เนื่องจากประเมินด้วยตัวเองแล้วว่าบัญชีเดียวน่าจะพอ แต่จริง ๆ แล้วแนะนำว่าควรแสดงให้ครบทุกบัญชีเพื่อย่นระยะเวลาที่จะพิจารณาให้สั้นลง ไม่ต้องให้ธนาคารขอในภายหลัง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน เมื่อลูกค้านำหลักประกันเพื่อมาขอสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม หรือบ้านมือสอง จุดสำคัญที่ธนาคารพิจารณาความเหมาะสมของหลักประกันนั้นคือ หลักประกันนั้นต้องไม่เป็นหลักประกันในพื้นที่ตาบอด และไม่ได้อยู่ในแหล่งเสื่อมโทรม เนื่องจากเมื่อหนี้มีปัญหาขึ้นมา หลักประกันอันนั้นธนาคารจะยึดมาเป็นหลักทรัพย์ของธนาคารและจะมีการขายทอดตลาดต่อไป หลักประกันที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น การขายออกไปจะทำได้ยาก
“ปัจจุบันนอกจากภาระหนี้ในครัวเรือนค่อนข้างสูง อีกมุมหนึ่งคือระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหายไปจากตลาดพอสมควร ไม่ใช่ว่าลูกค้าไม่มีรายได้ ดูได้จากบ้านราคาแพงประมาณ 4-5 ล้านบาท หรือคอนโดมิเนียมราคา 10 ล้านบาท ยังขายได้ดี แสดงว่าคนยังมีเงิน มีรายได้แต่ส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ ยื่นกู้ไม่ผ่านจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย ต่ำกว่า 15,000-20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งมีภาระค่อนข้างมาก ทั้งที่แต่ละธนาคารไม่ได้ปรับเกณฑ์อะไรเพิ่มเติมมากมาย ซึ่งอยากให้เข้าใจว่าตลาดทางด้านอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวข้องกับคนเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน ผู้บริโภค เราไม่อยากเห็นภาพเหมือนในปี 2540 ที่มีภาวะพองสบู่แตกอีก ปัจจุบันธนาคารจึงต้องอาศัยเครื่องมือหลายอย่างที่จะกลั่นกรองลูกค้าแต่อย่างไรก็ดีเชื่อว่าทุกสถาบันการเงินยังเข้าใจว่าผู้ที่เข้ามาใช้บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยทุกคนคือผู้ที่ต้องการอยากจะมีบ้านจริง ๆ ซึ่งธนาคารก็จะพิจารณาไปตามหลักเกณฑ์ ความเหมาะสม ความถูกต้อง โดยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ สนับสนุนให้ทุกคนมีบ้าน และช่วยเติมฝันให้ผู้บริโภค”
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นมนุษย์เงินเดือน แต่เป็นเจ้าชองกิจการ ค้าขาย หรืออาชีพอิสระที่ไม่ได้มีการนำเงินเข้าบัญชีเป็นประจำ ทั้ง 3 กูรู ฝากแนะนำด้วยว่า ไม่ใช่การขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากปัจจุบันแต่ละธนาคารไม่ได้รับเฉพาะลูกค้าที่เป็นมนุษย์เงินเดือนเท่านั้น แต่รับผู้ประกอบอาชีพที่หลากหลาย แต่ละสถาบันมีการออกแบบ โมเดลการวิเคราะห์สินเชื่อของลูกค้าแต่กลุ่มแล้ว หากไม่มีเงินในบัญชี สามารถใช้หลักฐานการเสียภาษีรายปียื่นได้ หรือการแจกแจงด้วยต้นทุน ยอดขาย กำไรต่อวันก็ได้ หรือแสดงทรัพย์สินปลอดภาระ รวมทั้งแจกแจงข้อมูลที่หมดภาระหนี้ที่เคยมี อาทิ เคยส่งลูกเรียน 3 คน แต่ปัจจุบันลูกเรียนจบทั้งหมดแล้ว หมดจากภาระหนี้ดังกล่าว สามารถผ่อนบ้านได้แล้ว สิ่งเหล่านี้คือมาตรการต่าง ๆ ที่ทุกธนาคารพร้อมช่วยเหลือเพื่อให้ลูกค้าทุกคนมีที่อยู่อาศัยของตนเองได้จริง ๆ
http://www.homed4u.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539363006
ที่มาจาก ตลาดบ้าน