กำจัด 10 จุดอ่อน
แก้ปัญหากู้ (ซื้อบ้าน) ไม่ผ่าน
ผลกระทบ จากปัญหา การเมืองและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้รายได้หรือกำลังซื้อบางส่วนลดลง ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเกือบๆร้อยละ 80 ของ GDP
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือมีตัวเลขการปฏิเสธให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น โดยเฉลี่ยแต่ละโครงการจะอยู่ที่ 10-15% (จากยอดจอง) แต่บางแห่งอาจสูงขึ้นถึง 20-25% เลยทีเดียว
ซึ่งเหตุผลหลักที่แบงก์ปฏิเสธการให้สินเชื่อก็เนื่องมาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ลดลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการมีภาระผ่อน รถยนต์คันแรก, การมีบัตรเครดิตหลายใบ, การผ่อนชำระสินค้ากับบัตรต่างๆตลอดจนรายได้ที่ลดลงในบางอาชีพอันเป็นผลมาจากการชุมนุมทางการเมืองและภาวะเศรษฐกิจ เป็นต้น
ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงในการยื่นขอกู้ซื้อบ้านแล้วไม่ผ่าน จึงมีคำแนะนำให้กำจัด10จุดอ่อน ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินดังนี้
1.บัตรเครดิตหลายใบมีไว้ทำไม ไม่รู้หรือว่ามีผลทำให้กำลังซื้อบ้านลดลง
ในการพิจารณาวงเงินที่จะให้สินเชื่อซื้อบ้าน แบงก์จะนำวงเงินจากบัตรเครดิตทุกใบที่มีอยู่มาคิดรวมเป็นภาระหนี้สิน(แม้จะยังไม่ได้รูดจ่ายก็ตาม)ส่งผลให้กู้ได้น้อยลงหรือกู้ไม่ผ่านในที่สุด หากภาระหนี้สินที่มีทั้งหมดเกินกว่า 40 % ของรายได้รวมทั้งหมด
2.ผ่อนสินค้าผ่านบัตรต่างๆ ต้องรีบเคลียร์ให้หมด
ปัจจุบันนอกเหนือจากบัตรเครดิตแล้วยังมีบัตรสำหรับผ่อนชำระสินค้าอื่นๆ ซึ่งควรรีบเคลียร์ให้หมด มิฉะนั้นก็จะถูกนำมาพิจารณาเวลาให้สินเชื่อด้วยเช่นกัน
3.จะยื่นกู้บ้านควรเช็คเครดิตบูโรก่อน
บางคนมีหนี้หรือค้างชำระหนี้โดยไม่รู้ตัว เมื่อยื่นขอกู้ไปแบงก์จะตรวจสอบข้อมูลมายัง เครดิตบูโร ซึ่งเครดิตบูโร จะเก็บรวบรวมข้อมูลการชำระสินเชื่อหรือบัตรเครดิต อันประกอบด้วยข้อมูลส่วนบุคคลและประวัติการชำระสินเชื่อ ทั้งวงเงินยอด หนี้คงค้างและประวัติการผิดนัดชำระหนี้ในแต่ละสิ้นเดือนย้อนหลังไม่เกิน 36 เดือน
หากผู้ขอสินเชื่อมีประวัติการชำระสินเชื่อที่ไม่ดี มีการค้างชำระหรือผิดนัดชำระ หรือแม้กระทั้งไม่เคยมีประวัติสินเชื่อกับสถาบันการเงินก็จะมีน้อยลง หรือถึงขั้นไม่อนุมัติสินเชื่อให้ก็เป็นได้
4.ผ่อนรถยนต์คันแรกอยู่ต้องคิดให้ดีก่อนจะกู้ซื้อบ้าน
สาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่แบงก์ปฏิเสธการให้สินเชื่อก็เนื่องจากผู้กู้มีภาระ ติดผ่อนชำระรถยนต์จากโครงการรถคันแรก ดังนั้นก่อนจะซื้อบ้านต้องคิดให้ดีหรือลองทำ pre-approve กับสถาบันการเงิน เพื่อดูความสามารถในการชำระหนี้ว่ายังผ่อนบ้านเพิ่มได้อีกหรือไม่
5.อย่าค้ำประกันใครง่ายๆ
เพราะสถาบันการเงินจะนำมาพิจารณารวมเป็นภาระหนี้ของคุณด้วย ทำให้สามารถในการกู้ลดลง เช่นเดียวกับบัตรเครดิตหรือบัตรผ่อนบ้านเพิ่มได้อีกหรือไม่
6.ก่อนคิดจะกู้ลองสร้างเครดิตดีๆให้ตัวเองก่อนกันไหม
หากไม่มั่นใจในรายได้หรืออาชีพของตัวเองว่าแบงก์จะปล่อยกู้หรือไม่ ลองสร้างเครดิตดีๆให้กับตัวเองโดยการเปิดบัญชีออมเงินสักระยะหนึ่งอาจจะ1-2ปี ซึ่งนอกจากเงินออมนี้จะกลายเป็นเงินดาวน์บ้านได้จำนวนหนึ่งแล้ว ยังช่วยสร้างเครดิตว่าคุณมีวินัยทางการเงินได้อีกทางหนึ่งด้วย
7.หาผู้กู้ร่วมที่มีเครดิตดี
การมีผู้กู้ร่วมที่มีอาชีพมั่นคง มีรายได้ประจำ เช่น ข้าราชการ,พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือประกอบวิชาชีพพิเศษ เช่น แพทย์, อัยการ เป็นต้น อาจทำให้มีโอกาสที่จะได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินมากขึ้น
8.เลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับกำลังซื้อ
ในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยขอให้คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้เป็นหลัก ไม่ใช่เพราะความต้องการอยากได้ เพราะหากผ่อนไม่ไหวจะกลายเป็นภาระที่หนักอึ้ง หรือต้องยอมให้แบงก์ยึดไปอย่างน่าเสียดาย นกน้อยทำรังแต่พอตัว
9.เลือกระยะเวลาผ่อนชำระยาวๆไว้ก่อน
แนะนำให้เลือกระยะเวลาการผ่อนชำระบ้านที่นานๆไว้ก่อน เช่น 25-30 ปี เพื่อให้วงเงินที่ผ่อนชำระต่อเดือนน้อยๆหากรายได้ลดลงก็ไม่กระทบกับการผ่อน ในทางกลับกันถ้ามีรายได้เพิ่มขึ้นก็สามารถโปะได้ หรือไม่ต้องผ่อนนานตามที่กำหนดไว้ได้
แต่ถ้าเลือกผ่อนระยะสั้นไปแล้วจะขอขยายเวลาออกไปต้องเสียเวลาไปยื่นเรื่อง
ใหม่ และอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก
10.ถ้ายังไม่พร้อมก็อย่าเพิ่งคิดเป็นหนี้
เนื่องจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะผูกพันเป็นภาระหนี้ในระยะยาวเป็น 10 ปี 25 ปีขึ้นไป ฉะนั้นต้องมั่นใจในกำลังผ่อนของตัวเองเสียก่อนจึงคิดจะมีบ้าน
หากสามารถกำจัด 10 จุดอ่อนเหล่านี้ ซึ่งจะมีผลต่อการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินลงได้แล้วล่ะก็ เชื่อว่าคุณจะมีบ้านได้อย่างใจฝันแน่นอน
HOT STORY /โอกาสกับการซื้อบ้าน
http://www.homed4u.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539363006
https://www.facebook.com/profile.php?id=100009945105162